เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 3.คหปติวรรค 8.ทุติยพลสูตร
7. ปฐมพลสูตร
ว่าด้วยกำลัง สูตรที่ 1
[27] ภิกษุทั้งหลาย กำลัง 8 ประการนี้
กำลัง 8 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. เด็กมีการร้องไห้เป็นกำลัง
2. มาตุคามมีความโกรธเป็นกำลัง
3. โจรมีอาวุธเป็นกำลัง
4. พระราชามีอิสริยยศเป็นกำลัง
5. คนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง
6. บัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง
7. คนผู้เป็นพหูสูตมีการพิจารณาเป็นกำลัง
8. สมณพราหมณ์มีขันติ1เป็นกำลัง
ภิกษุทั้งหลาย กำลัง 8 ประการนี้แล
ปฐมพลสูตรที่ 7 จบ

8. ทุติยพลสูตร2
ว่าด้วยกำลัง สูตรที่ 2
[28] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า
“สารีบุตร ภิกษุขีณาสพมีกำลัง3เท่าไร จึงปฏิญญาความสิ้นอาสวะทั้งหลายว่า
‘อาสวะของเราสิ้นแล้ว”

เชิงอรรถ :
1 ขันติ ในที่นี้หมายถึงอธิวาสนขันติ (องฺ.อฏฺฐก.อ. 3/27/248)
2 ดู องฺ.ทสก. (แปล) 24/90/204-206
3 กำลัง ในที่นี้หมายถึงญาณพละ(กำลังแห่งญาณ) (องฺ.อฏฺฐก.อ.3/28/248)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :272 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 3.คหปติวรรค 8.ทุติยพลสูตร
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุขีณาสพมีกำลัง
8 ประการ จึงปฏิญญาความสิ้นอาสวะทั้งหลายว่า ‘อาสวะของเราสิ้นแล้ว’
กำลังของภิกษุขีณาสพ 8 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. สังขารทั้งปวงเป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพในพระธรรมวินัยนี้เห็นว่าเป็น
สภาวะไม่เที่ยงด้วยปัญญาอันชอบ1ตามความเป็นจริง แม้ข้อที่
สังขารทั้งปวงเป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเห็นว่าเป็นสภาวะไม่เที่ยงด้วย
ปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง นี้ก็เป็นกำลังของภิกษุขีณาสพ
ที่ภิกษุขีณาสพอาศัยปฏิญญาความสิ้นอาสวะทั้งหลายว่า ‘อาสวะ
ของเราสิ้นแล้ว’
2. กามทั้งหลายเป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเห็นว่าเปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง
ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง แม้ข้อที่กามทั้งหลายเป็น
ธรรมที่ภิกษุขีณาสพเห็นว่าเปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิงด้วยปัญญาอันชอบ
ตามความเป็นจริง นี้ก็เป็นกำลังของภิกษุขีณาสพที่ภิกษุขีณาสพ
อาศัยปฏิญญาความสิ้นอาสวะทั้งหลายว่า ‘อาสวะของเราสิ้นแล้ว’
3. จิตของภิกษุขีณาสพเป็นธรรมชาติน้อมไป โน้มไป โอนไป ตั้งอยู่ใน
วิเวก2 ยินดียิ่งในเนกขัมมะ3 ปราศจากเงื่อนธรรม4อันเป็นที่ตั้งแห่ง
อาสวะโดยประการทั้งปวง แม้ข้อที่จิตของภิกษุขีณาสพเป็นธรรมชาติ
น้อมไป โน้มไป โอนไป ตั้งอยู่ในวิเวก ยินดียิ่งในเนกขัมมะ ปราศจาก
เงื่อนธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะโดยประการทั้งปวง นี้ก็เป็นกำลัง
ของภิกษุขีณาสพ ที่ภิกษุขีณาสพอาศัยปฏิญญาความสิ้นอาสวะ
ทั้งหลายว่า ‘อาสวะของเราสิ้นแล้ว’

เชิงอรรถ :
1 ปัญญาอันชอบ ในที่นี้หมายถึงมัคคปัญญา (องฺ.อฏฺฐก.อ.3/28/248)
2 วิเวก หมายถึงนิพพาน (องฺ.อฏฺฐก.อ.3/28/248) และดู องฺ.ทสก. (แปล) 24/90/204-206
3 เนกขัมมะ ในที่นี้หมายถึงบรรพชา (การบวช) (องฺ.อฏฺฐก.อ. 3/28/248)
4 ปราศจากเงื่อนธรรม ในที่นี้หมายถึงปราศจากตัณหา ไม่มีความยึดติดหรือหมดตัณหาแล้ว (องฺ.อฏฺฐก.อ.
3/28/248, องฺ.อฏฺฐก.ฏีกา 3/28/288)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :273 }